นพดล ดวงพร และ เพชรพิณทอง
นักรบวัฒนธรรมแห่งที่ราบสูง 

(Root) 200937_81033.jpg

      นพดล ดวงพร ถือว่าเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีผลงานและมีคุณูปการให้กับวงการเพลงของประเทศ เป็นเกียรติเป็นศรีของภาคอีสาน และเป็นความภูมิใจของชาวเมืองอุบล

      นพดล ดวงพร เป็นนักสู้ชีวิต และเป็นนักสู้ผู้ยืนหยัดในความเชื่อของตน เขาสร้าง “วงดนตรีพูดอีสาน” เพชรพิณทอง จนเป็นที่ยอมรับแก่ผู้คน สร้างศิลปินนักร้อง นักแสดงอย่างมากมาย ก่อให้เกิดรายได้ เกิดการสร้างงาน ตลอดจนมีการเผยแพร่และนำเอาศิลปะการแสดงแบบอีสานอย่างกว้างขวางและยาวนาน ตลอดจนการรับใช้สังคมโดยร่วมมือกับส่วนราชการอย่างต่อเนื่อง

     นพดลเป็นนักรบผู้กล้าแกร่ง และยืนหยัดต่อสู้ยาวนาน วงดนตรีเพชรพิณทองเป็นวงดนตรีวงเดียวที่มีอายุมากที่สุด สามารถยืนระยะและเก็บรับความนิยมจากแฟนๆ ได้ยาวนาน    เพชรพิณทองได้มีส่วนปลูกฝังหรือเตรียมความพร้อมให้กับแฟนๆ ได้เปิดใจอ้าแขนรับวงดนตรีแนวอีสาน ด้วยการสร้างผลงานในระดับมาตรฐาน รับประกันด้านความสนุกสนาน ที่สำคัญ เพชรพิณทองได้ปลูกความรักในใจผู้คนให้รักในภาษาและลีลาอีสาน

        ภาษาและลีลาอีสานที่เพชรพิณทองได้นำเสนอเป็นการอนุรักษ์ภาษา อนุรักษ์เชิดชูลวดลายและแนวการแสดงแบบอีสาน มีทั้งนำเอาระเบียบวิธีการแสดงแบบเก่าผสมผสานความความเป็นไปของผู้คนในภาคอีสานได้อย่างกลมกลืน ทำให้ผู้คนได้เกิดความรักอย่างสนิทใจ ไม่ฝืนความรู้สึก แต่กลมกลืนกลมกล่อมน่ารักน่าศรัทธา


       เพชรพิณทอง และนพดล ดวงพร คือนักรบทางวัฒนธรรมของภาค ที่เกิดขึ้นจากมันสมองและการสั่งสมประสบการณ์ของนพดล ดวงพร เป็นการมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยวด้วยตัวของตัวเอง เป็นความแน่วแน่ในอันจะจรรโลงและอนุรักษ์สิ่งดีงาม พร้อมๆ กับการผสมผสานของใหม่เข้าด้วยกัน

 

 

 

 

(Root) 2009310_50052.gif

 

 

 

 

 

 


     “แม่นแล้ว” “เบิ่งกันแหน่เด้ออาว” “น้อยทิง” “นางเอย” “เด้อนางเดอ เด๊อเด๊อนางเดอ ตึ้งๆ” อีกหลากหลายคำ อีกเป็นร้อยเป็นพันคำและวลีที่ติดหู ติดปากผู้คน ที่เพชรพิณทองไปหยิบจับจากท้องถิ่นที่อีสานเป็นและอยู่มาใช้ทำการแสดง ทำให้ผู้คนเห็นความสำคัญของคำและวลีที่ใช้ในชีวิตประจำวันหรือการละเล่นแสดงในภาคกลับมาอยู่ในความนิยม ทำให้เห็นความลึกและมิติของภาษา และนี่คือ อานุภาพของภาษา อานุภาพของวัฒนธรรม ความสำคัญอยู่ที่เกาะเกี่ยวเหนี่ยวพันคนเข้าด้วยกันด้วยภาษา เป็นทั้งเครื่องผูกพันและเป็นรหัสให้ผู้คนได้ใช้ในการปฏิสัมพันธ์กัน



      อาวุธสำคัญของวงดนตรีและของบุคคลผู้นี้คือการใช้ภาษาอีสาน ขณะที่สังคมอีสานกำลังเกิดความสับสนในอัตลักษณ์ของตัวเอง ท่ามกลางการดูถูกชาติพันธุ์ของสังคมไทยที่มีต่อคนลาว ต่อชาวอีสาน ซึ่งปรากฏการณ์อย่างนี้ได้ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมบนแผ่นดินอีสานตามมา คือ ได้เพาะเชื้อความรังเกียจกำพืดของตัวเอง ดูถูกตัวเอง เกลียดความเป็นลาวในสายเลือดตัว และพยายามหนีสุดชีวิตเพื่อให้พ้นไปจากความเป็นลาว เป็นคนอีสาน ด้วยการสร้างปมเขื่องให้กับตนเองด้วยการ “ไม่พูดภาษาอีสาน หรือภาษาลาว”

        ปรากฏการณ์อันน่าสยดสยองนี้เกิดขึ้นในทุกสังคมเมืองของอีสาน และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว แต่ท่ามกลางความเลวร้าย

… เพชรพิณทอง และนพดล ดวงพร ก็โผล่ออกจากเงามืด และออกมายืนท้าทาย ต่อสู้ฟาดฟัน และที่สุด นพดลและเพชรพิณทองก็ประสบชัยชนะ นำพาผู้คนในภาคและคนเชื้อสายลาวในจังหวัดอื่น แม้กระทั่ง คนลาวในต่างแดนและคนลาวในประเทศ สปป. ลาวเองก็ยังได้รับอานิสงส์และเก็บรับความภาคภูมิใจพร้อมกัน

       คงไม่เกินเลยนัก หากจะกล่าวว่า คนที่ใช้ภาษาลาวหากได้ฟังเพชรพิณทองเป็นต้องยิ้ม หัวเราะ ขบขัน และหลังจากนั้นก็จะเกิดความรักในภาษา รักในสิ่งที่บรรพบุรุษได้สรรค์สร้างไว้ หลายคนบอกกับตัวเอง … ถ้าไม่รู้ภาษาลาว ถ้าไม่เป็นคนลาว คงขาดทุนแย่ เพราะความงามในคำ ในนัยที่แฝงในลีลาและคำพูดมันวิจิตรและงดงามยิ่งนัก… แล้วทุกคนก็มอบความรักให้กับเพชรพิณทองอย่างเต็มหัวใจ

     เขาและชาวคณะได้ใช้ภาษาของพ่อแม่อย่างมีประสิทธิภาพ แง่มุมและมุกตลกของเพชรพิณทอง มาจากความงดงามของภาษาอีสาน ภาษาลาว มาจากวิถีชีวิตของชาวอีสาน มาจากคำหยอกล้อ มีจากภาษิต ผญา โตงโต่ย และภาษาถ้อยคำของคนสมัยใหม่ รวมทั้งได้สะท้อนวิถีความเป็นไปในภาคอีสาน ที่สำคัญไปกว่านั้น เพชรพิณทองได้สอดแทรกศิลปะ วัฒนธรรมของอีสานอย่างหลากหลายและถ่ายทอดอย่างมีศิลปะ ทำให้ศิลปะและคุณค่าที่ดีเลิศอยู่แล้ว กลับผุดผาดส่องใสยิ่งขึ้น เมื่อมีการประยุกต์และนำมานำเสนอและจัดแสดงได้อย่างลงตัว 

      นอกจากเป็นนักแสดงนักร้อง ในการสร้างสรรค์ด้านการประพันธ์เพลง ก็มีไม่น้อย และขอนำเสนอเฉพาะส่วนของบทเพลงที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับเมืองอุบลราชธานี และที่เป็นที่รู้จักกันดี คือเพลง เสียงพิณเสียงแคน เสียงพิณเสียงแคน คำร้อง / ทำนอง /ขับร้อง นพดล ดวงพร

     เราจากกันเมื่อวันที่สี่ คนดีเคยให้สัญญา เธอบอกจะคืนมาหา ไฉนแก้วตาเหมือนกับมีปีกบิน อุบลไม่ใช่คนละถิ่น อำเภอวารินก็เป็นถิ่นเดียว เมื่อก่อนมีเธอและฉัน เคยพรอดรักกันอยู่ริมฝั่งน้ำมูน ดอกคูนนั้นก็เหลืองเต็มต้น นพดลเป่าแคนดีดพิณ เตือนบอกเธอควรถวิล บ้านท่าวังหินยังเป็นถิ่นสมบูรณ์ อย่าลืมฝั่งลำน้ำมูน อย่าลืมดอกคูนเสียงแคนเสียงพิณ เสียงพิณก้องดังมาโตดต่ง สาวอนงค์นาฎน้องหล้าอยู่ไส หรืออยู่ใกล้ขอนแก่นกาฬสินธุ์ คั่นได้ฟังสียงพิณให้ว่าพี่ชายนำเอิ่น
     เชิญฟังเสียงพี่ก่อน นพดลดวงพรเรียกน้องกลับคืน คอยอยู่จำทนสุดฝืนทุกวันทุกคืนคอยน้องกลับมา

 

      

       "นพดลเป็นนักรบผู้กล้าแกร่ง และยืนหยัดต่อสู้ยาวนาน วงดนตรีเพชรพิณทองเป็นวงดนตรีวงเดียวที่มีอายุมากที่สุด สามารถยืนระยะและเก็บรับความนิยมจากแฟนๆ ได้ยาวนาน"

 

 

เรียบเรียงโดย แวง พลังวรรณ / แวววัน  

 

 

นพดลดวงพร ได้รับรางวัล บุคคลภาษาไทยดีเด่นปี2552

         กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศผลเชิดชูเกียรติปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น และผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ประจำปี 2552 เรียบร้อยแล้ว มีดังนี้

รางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ศ.เกียรติคุณเจตนา นาควัชระ นายชวน หลีกภัย น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย นายสมบัติ พลายน้อย (ส.พลายน้อย) ศ.กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ ศ. (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น นายกิตติ  สิงหาปัด นายกุลชาติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นายชูชาติ  ชุ่มสนิท นายธงชัย ประสงค์สันติ ร.ศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ ร.อ.นายแพทย์ยงยุทธ มัยลาภ ศ.รื่นฤทัย สัจจพันธ์ นายโรจน์ งามแม้น (เปลว สีเงิน)

ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นชาวต่างประเทศ นายยูจิโร อิวากิ

ส่วนรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น นายเจริญ มาลาโรจน์ (มาลา คำจันทร์) นางบัวซอน ถนอมบุญ นายณรงค์ พงษ์ภาพ (แ) นางราตรี ศรีวิไล นายสาทร ดิษฐสุวรรณ นายเอกชัย ศรีวิชัย  


 

 
 

                15 ค่ำ เดือน 11 เป็นเรื่องของกลุ่มพระทางฝั่งประเทศลาวที่ร่วมกันสร้างปฏิบัติการ "บั้งไฟพญานาค" ขึ้นมาด้วยจุประสงค์ที่คงเรียกได้ว่า " เป็นความผิดโดยสุจริต" เพื่อคงไว้ซึ่งศรัทธาในพุทธศาสนา และเมื่อ คาน เด็กหนุ่มที่ หลวงพ่อโล่ ชุบเลี้ยงมาแต่เล็กแต่น้อย เกิดปฏิเสธที่จะร่วมวงในปฏิบัติการในปีนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าโลกที่แท้จริงภายนอกนั้น วิวัฒนาการมันก้าวไกลเกินกว่าที่จะมานั่งหลอกคนแบบนี้ได้ แต่โลกใบที่ คาน บอก มันเป็นคนละโลกกับโลกของหลวงพ่อ โลกที่ความศรัทธายังคงเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงให้ทุกชีวิตดำเนินต่อไป ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมิได้หยุดอยู่แค่ความคิดของคนต่างฝ่ายที่คิดเห็นไม่เหมือนกัน แต่มันยังลามไปถึงความขัดแย้งระหว่างขอบเขตของการทำสิ่งที่เชื่อว่าเป็นการทำความดีและการหลอกลวงอีกด้วย

ความศรัทธาที่ หลวงพ่อโล่ มีต่อพุทธศาสนานั้นมากมายจนเกินกว่าที่มนุษย์เดินดินคนหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นเพศสิกขาจะรับไว้ได้ นำมาซึ่งฉากที่ดีที่สุดฉากหนึ่งในหนัง (หนังมีอีกหลายๆ ฉากที่ "ดีมาก") คือฉากที่หลวงพ่อตัดสินใจทำในสิ่งที่ท่านเชื่อว่าเป็นการกระทำเพื่อเป็นพุทธบูชา และเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับมนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่งพึงกระทำได้เพื่อคงไว้ซึ่งความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ฉากนี้ถ่ายภาพหลวงพ่อแล่นเรือมากลางแม่น้ำโขง สีหน้าของท่านสงบ รอยยิ้มที่ปรากฏออกมานั้นบ่งบอกถึงผู้ที่กำลังจะทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อและภูมิใจเป็นที่สุด ภาพย้อนอดีตที่ตัดสลับออกมาให้เห็นตอกย้ำหนักแน่นถึงความทุ่มเทที่พระรูปนี้มีต่อพุทธศาสนา บวกกับการแสดงของ นพดล ดวงพร ที่ "นิ่งแบบกินขาด" อารมณ์ที่ผู้ชมได้รับฉากนี้จึงชัดเจนเกินคำบรรยายและที่สำคัญคือ หลังจากที่ฉากนี้จบลง คงไม่มีใครสงสัยว่าทำไมหลวงพ่อต้องทุ่มเทขนาดนี้เพียงเพื่อสร้างเรื่องที่อาจทำลายความเชื่อมั่นทั้งหลายทั้งปวงของทั้งตัวเองและของพุทธศาสนิกชนทั่วไป

ฉากไคลแมกซ์ที่ตามมาในช่วงสุดท้ายของหนังไม่มีอะไรเกินความคาดหมายสำหรับคอหนังที่ดูหนังมาเยอะ ไม่มีอะไรให้ลุ้นกันมากมาย เพราะตัวหนังดำเนินมาตามทางของหนังกึ่งสารคดีอยู่แล้ว แต่ "ความอิ่มเอมใจ" ที่ได้รับจากฉากนี้นั้น มันท่วมท้น น่าปิติใจ และอิ่มใจมากๆ จนล้นออกมาเป็นน้ำหูน้ำตาที่ไม่รู้แห่มาจากไหนกัน

"หนึ่งวินาทีในใจของแต่ละคนไม่เท่ากัน" "เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ" คำเหล่านี้ที่ออกจากปากหลวงพ่อถึงแม้จะคล้ายกับคำในโฆษณาเหล้า (ที่หนังแฝงโฆษณาไว้ได้อย่างแยบยล) ก็ตาม แต่คงต้องยอมรับว่าเป็นคำพูดที่สื่อถึงความศรัทธา แนวความคิด ความเชื่อที่ผลักดันให้ตัวละครแต่ละตัวมีพฤติกรรมอย่างที่เห็นในหนัง เหมือนในเพลง "ผู้ชนะ" เพลงประกอบหนังที่เขียนไว้ว่า "ขอเพียงแค่ฝันให้ไกล แล้วไปให้ถึงที่จุดหมาย โปรดจงมั่นใจ ที่ทำลงไปน่ะถูกแล้ว อย่าฟังคำคน อย่าสนใจใคร อย่าเปลี่ยนแนว คนแน่แน่ว เท่านั้น … ผู้ชนะ " แม้หนังจะไม่ให้คำตอบในหลายๆ เรื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ตัวหนังบอกเราอย่างแจ่มชัดนั่นคือ ใครกันที่มุ่งมั่นและอดทนจนได้เป็นผู้ชนะในที่สุด

มีหลายตอนที่หนังไม่ได้บอกถึงสาเหตุแน่ชัดที่เกิดขึ้นกับตัวละคร เราไม่รู้ว่าผู้ช่วยของดร.สุรพล ดำน้ำไปพบกับอะไรถึงทำให้เขามีอาการเช่นนั้น เราไม่รู้ว่าหลวงพ่อเคยเห็นพญานาคตัวจริงหรือไม่ เพราะหากจะมานั่งบอกอะไรกันหมด คงจะดูยัดเยียดและเป็นการคิดแทนคนดูมากเกินไปและผมเชื่อว่าคำตอบต่อข้อสงสัยเหล่านี้ล้วนขึ้นอยู่กับ "ความศรัทธา" ของแต่ละคนอยู่แล้ว

ตัวละครที่เด่นมากๆ คงเป็น นพดล ดวงพร หัวหน้าวงดนตรีเพชรพิณทองแสดงเป็นหลวงพ่อโล่ ได้อย่างไม่มีที่ติ

 
  neunth@yahoo.com
นีอุง นีอุง 12/10/2545

 

 (Root) 200937_80992.jpg

 

ผลรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ประจำปี 2545

 


     การจัดงานประกวดภาพยนตร์แห่งชาติ เป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งจัดขึ้นทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 12 ในวันภาพยนตร์แห่งชาติ 4 เมษายน ที่โรงภาพยนตร์สกาลา

งานครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา สนธยา คุณปลื้ม เป็นประธานเปิดงาน ท่ามกลางบุคคลสำคัญในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ผู้กำกับภาพยนตร์ และนักแสดงมากมาย อาทิ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล, สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ, กิตติกร เลียวศิริกุล, สุเทพ ตันตินิรัตน์, แดนนี่ แปง, สนานจิตต์ บางสพาน, ปิติ จตุรภัทร์, มานพ เจนจรัสสกุล, อำพล ลำพูน, เพ็ญพักตร์ ศิริกุล, มยุรา เศวตศิลา, โกวิทย์ วัฒนกุล, อินทิรา เจริญปุระ, สุวินิต ปัญจมะวัต, ไดอาน่า จงจินตนาการ

พิมลรัตน์ พิศลยบุตร ควงคู่มากับ ศิริประภา ชุมสาย ณ อยุธยา ที่มาพร้อมกับทรงผมใหม่ฉไลกว่าเดิม, ดร.เสรี วงษ์มณฑา ควงคู่มากับคู่ตังเม อรนภา กฤษฎี และ ยลรตี โคมกลอง, บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ มาพร้อมกับ ส่องแสง ส่องสว่าง น้องแสงจากช้างเพื่อนแก้ว, ทีมงานและนักแสดงจาก 15 ค่ำเดือน 11 มากันครบทีมเหมือนเคย ได้แก่ จิระ มะลิกุล, ยงยุทธ ทองกองทุน, อนุชิต สพันธุ์พงษ์, ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ, นพดล ดวงพร และ บุญศรี ยินดี, ภาณุ สุวรรณโณ มาพร้อมกับ 2 สาวจาก สาบเสือที่ลำน้ำกษัตริย์ ปรางทอง ชั่งธรรม และ สุนิสสา บราวน์

     นอกจากนี้ยังมี ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ และ ปาริชาต แก้วกำพล จาก เกิร์ลเฟรนด์ 14 ใสกำลังเหมาะ, ภิสสรา อุมะวิชนี จาก แก้วขนเหล็ก, พิมพาภรณ์ ลีนุตพงษ์, พินทุ์สุดา ตันไพเราะห์ และ นันทวัฒน์ อาศิรพจนกุล จาก สยิว, เจษฎาภรณ์ ผลดี, กกกร เบญจาธิกูล, โจโจ้ ไมอ๊อคซิ, สหภาพ วีระฆามินทร์, พรหมสิทธิ์ สิทธิจำเริญคุณ, สุทธิพงศ์ สิทธิจำเริญคุณ, อนุชา ฉัตรแก้ว, หทัยรัตน์ เจริญชัยชนะ และ สุจิรา อรุณพิพัฒน์ จาก สตรีเหล็ก 2 ส่วน ชัยชาญ นิ่มพูลสวัสดิ์ ก็ควงคู่มากับแฟนสาว พิมพ์ศีรี พิมพ์ศรี

     ชลัฏ ณ สงขลา และ โอรสสา ฤทธิกาญจน์ จาก น.ช. นักโทษชาย, นพชัย ชัยนาม, สเตลล่า มาลูกี้ และ คทรีนา กลอส จาก องคุลิมาล, ชุติมา เอเวอรี่, กมลชนก เวโรจน์, ศลยา ปิ่นนรินทร์ และ ทอฝัน จิตธาราทิต จาก ผู้หญิง 5 บาป, กัมปนาท แย้มวิมล และ เกรียงศักดิ์ แก้วหล้า จาก ชุมเสือแดนสิงห์ ตอน กระตุกติ่งเจ้าพ่อ, นภามาศ จันทรมณี จาก โรงแรมผี, อริศรา วงษ์ชาลี จาก 1+1 เป็นสูญ, สรวงสุดา ลาวัลย์ประเสิร์ฐ จาก ขังแปด, พนม ยีรัมย์ และ ภุมวารี ยอดกมล จาก องค์บาก,

     หทัยทิพย์ สีสังข์ จาก ธรณีกรรแสง, ฌานิศ ใหญ่เสมอ จาก ผีหัวขาด, ปวริศร์ มงคลพิสิฐ จาก ส้ม แบงค์ มือใหม่หัดขาย, บงกช คงมาลัย จาก ขุนแผน, พิมพรรณ จันทะ, ศศิธร พานิชนก จาก ตะลุมพุก มหาวาตภัย ล้างแผ่นดิน, นิโคล เทริโอ และ สิริยากร พุกกะเวส จาก คืนไร้เงา, เท่ง เถิดเทิง จาก แอบ...คนข้างบ้าน, อรรฆรัตน์ นิติพน จาก Man เกิน 100 แอ้มเกินพิกัด ควงคู่มากับแฟนสาว สโรชา วาทิตพันธ์ มาร่วมงาน

     ทางด้านผลรางวัลเป็นไปตามคาดหมาย 15 ค่ำ เดือน 11 คว้าไปมากที่สุด 9 รางวัล อีก 7 รางวัลกระจายไปยังภาพยนตร์ต่างๆ ได้แก่ 1+1 เป็นสูญ 2 รางวัล, ตะลุมพุก มหาวาตภัย ล้างแผ่นดิน 2 รางวัล, เกิร์ลเฟรนด์ 14 ใสกำลังเหมาะ 1 รางวัล, น.ช. นักโทษชาย 1 รางวัล และ ชุมเสือแดนสิงห์ ตอน กระตุกติ่งเจ้าพ่อ 1 รางวัล

     ส่วนรางวัลสุพรรณหงส์กิตติมศักดิ์ มอบให้แก่ผู้กำกับที่มีผลงานมาแล้ว 32 เรื่อง โดยมีเรื่องแรก คือ จำนำเรือนหอ และมีผลงานที่รับรายได้เกิน 1 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 24 เรื่อง กับฉายาเด็ด คือ "ล้านแล้วจ้า" ดอกดิน กัญญามาลย์

ผลรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 12 มีดังนี้

  • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม - 15 ค่ำ เดือน 11
  • ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม - จิระ มะลิกุล จาก 15 ค่ำ เดือน 11
  • ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม - นพดล ดวงพร จาก 15 ค่ำ เดือน 11
  • ผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยม - อริศรา วงษ์ชาลี จาก 1+1 เป็นสูญ
  • ผู้แสดงประกอบชายยอดเยี่ยม - ม.ร.ว.มงคลชาย ยุคล จาก ตะลุมพุก มหาวาตภัย ล้างแผ่นดิน
  • ผู้แสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยม - ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ จาก เกิร์ลเฟรนด์ 14 ใสกำลังเหมาะ
  • บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม - 15 ค่ำ เดือน 11
  • กำกับภาพยอดเยี่ยม - 15 ค่ำ เดือน 11
  • ลำดับภาพยอดเยี่ยม - 15 ค่ำ เดือน 11
  • บันทึกเสียงยอดเยี่ยม - 15 ค่ำ เดือน 11
  • เพลงนำยอดเยี่ยม - นิรันดร์ จาก ตะลุมพุก มหาวาตภัย ล้างแผ่นดิน
  • ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม - 15 ค่ำ เดือน 11
  • กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม - น.ช. นักโทษชาย
  • ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม - 1+1 เป็นสูญ
  • แต่งหน้ายอดเยี่ยม - ชุมเสือแดนสิงห์ ตอน กระตุกติ่งเจ้าพ่อ
  • การสร้างภาพยนตร์พิเศษยอดเยี่ยม - 15 ค่ำ เดือน 11
  • รางวัลสุพรรณหงส์กิตติมศักดิ์ - ดอกดิน กัญญามาลย์

 

    

P ดุษฎี กองสมบัติ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 
บทความเรื่องตลกอีสาน : ภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย 

เพชรพิณทอง : ตำนานแห่งตลกอีสาน                      

             วงดนตรีลูกทุ่งเพชรพิณทองนั้น เป็นวงดนตรีลูกทุ่ง “พูดอีสาน” วงแรกของประเทศไทย ทั่วถิ่นภาคอีสานไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อวงดนตรีที่อยู่ยาวนานถึง 31 ปี วงนี้ “นพดล ดวงพร” ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2514 (เนตรนภา แก้วแสงธรรม,  2545:  13) หลังจากที่ลาออกจากวงดนตรีคณะจุฬารัตน์ของครูมงคล  อมาตยกุล (มะลิ สำโรง,  2543:  3) วงเพชรพิณทองมีสำนักงานอยู่ที่ นิคมสายกลาง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี                     

             ในปี  พ.ศ. 2519 “ลุงแนบ” หรือ ณรงค์ โกษาผล ได้เข้ามาร่วมงานกับนพดล ทำให้นพดลกับลุงแนบกลายเป็นคู่หูร่วมกันสร้างชื่อเสียงให้วงเพชรพิณทองโด่งดังทั่วภาคอีสานในช่วงปี พ.ศ. 2527-2528 ถือว่าเป็นยุคทองของวงเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเปิดการแสดงที่ไหน ก็ได้รับการต้อนรับจากแฟนเพลงอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน คิวการแสดงยาวเหยียด เรียกว่า ตลอดเดือนหนึ่งแทบไม่มีวันพัก บางปีเจ้าภาพต้องจองล่วงหน้าข้ามปี แต่ปัจจุบันนี้ วงเพชรพิณทองมีงานแสดงไม่ครบเดือนเหมือนเก่า   มีผู้ชมจำนวนไม่มากนักในแต่ละคืนที่เปิดทำการแสดง แต่พวกเขาก็ยังหยัดยืนสืบสานการแสดงหน้าเวทีด้วยคอนเซ็ปท์เดิมคือ “ดูสนุก ฮาสนั่น ชุดเต้นสยิว” เพื่อรับใช้ชาวอีสานทั่วไทยไปอีกนานแสนนาน (คมชัดลึก,  2545:  7)                     

              เพชรพิณทองเป็นวงดนตรีที่ตั้งมายาวนานที่สุดในประเทศไทย  (เนตรนภา แก้วแสงธรรม,  2545:  13)    และเป็นวงดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน ซึ่งประกอบด้วยพิณและแคน มีรูปแบบการแสดงด้วยการร้องเพลงลูกทุ่ง   มีหางเครื่องเต้นประกอบจังหวะและแสดงตลกสลับฉาก  การแสดงตลกได้รับความนิยมจากผู้ชมมาก จนกลายเป็นจุดเด่นของคณะมากกว่าการร้องเพลง จุดขายของวงนี้คือ “การขายหัวเราะราคาถูก หัวเราะทุก 4 นาที” โดยช่วงแรกมี  นพดลกับลุงแนบ เป็นตัวชูโรง ต่อมามี  หนิงหน่อง แท็กซี่  จ่อย จุกจิก และใหญ่ หน้ายาน มาเสริมทีมตลก ทำให้เพชรพิณทองได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว การแสดงจะเน้นบรรยากาศของภาคอีสาน  สะท้อนสภาพสังคมและวัฒนธรรมอีสานได้อย่างชัดเจน 

Advertising Zone    Close

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...