(Root) 2009310_50052.gif


      ในวาระที่เมืองอุบล ครบรอบ ๒๐๐ ปี นพดล  ดวงพร ได้รับมอบหมายจากทางจังหวัดอุบลราชธานีให้เป็นผู้อำนวยการผลิตและสร้างสรรค์งานนำเอาประวัติศสาตร์เมืองอุบล และเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของเมืองอุบล มาบอกเล่าผ่านบทเพลง ในวาระที่เมืองอุบล ครบรอบ ๒๐๐ ปี ใน พ.ศ.๒๕๓๕ เพื่อเฉลิมฉลองฉลอง ๒๐๐ ปีอุบลราชธานี โดยมีผู้ประพันธ์เพลง คือ ชลธี ธารทอง พงษ์ศัดิ์ จันทรุกขา ,ณรงค์ โกษาผล, สยาม รักษ์ถิ่นไทย ,ธนรรษต์ ผลพันธ์,ประพนธ์สุริยะศักดิ์ ,เฉลิมพร เพชรศยาม , นคร พงษ์ภาพ นับเป็นการระดมนักแต่ง นักร้อง คนเมืองอุบล และที่มีชื่อเสียง มาสร้างสรรค์เพลงเมือง รวม ๒๒ เพลง ซึ่งมีทั้งเพลงเก่าและเพลงใหม่ที่ตั้งขึ้น และบางเพลงได้มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ เช่นเพลงลูกแม่มูน ของครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เป็นต้น ในพื้นที่จำกัดเราขอนำเสนอในเพียงบางบทเพลง ฉลอง ๒๐๐ ปี ที่อุบล  เทพพร เพชรอุบล ขับร้อง

         โอ โอ้ โอ โอ้….โอ โอ้….ดอกบัวบานแย้ม จันทร์ก็แจ่มทั่วนภา ศกนี้ปีสามห้า กรกฏา ได้ฤกษ์ยาม ก่อนหนอพระวอพระตาตั้งธาราสง่างามปักหลักเมือง เหลืองอร่าม ตั้งแฝงนามดอนมดแดง จะตัดต่อพอพอเข้า พอถึงเค้ามาแถลงจากเดิมเมืองดอนมดแดงมาเปลี่ยนแปลงเป็นอุบล อุบลเอย แบ่งบานสวยตระการ ท่านได้ชม มาเด้อเชิญมายล เมืองอุบล ๒๐๐ ปี ลำนำคำเสนอ ให้ท่านเกลอทุกถิ่นที่ ล้วนแล้วแต่มีดี เป็นภาคีให้ท่านชม องค์พ่อพระอินทร์แปลง เป็นองค์แห่งให้สุขสม หากท่านนั้นโศรกตรม ได้กราบก้มจะสมพร สะพือคือชื่อแก่ง สะพือแห่งแหล่งหินซ้อนสลับทับหินกอนเป็นโขดคอนย้อนทางมูน ผาแต้มใครแต้มแต่ง ทั้งปรุงแปงไม่เสื่อมสูญ นับพันปีมีเค้ามูล เพิ่มผองพูนเป็นบุญตาเรืองรองจนลือลั่น เมื่อถึงวันเข้าพรรษาตกแต่งจนเทียมตา เทียนพรรษาเหล่าลวดลาย กนกวกเวียนเส้นแกะดอกเด่นเป็นดอกไม้ นงนางนั่งเรียงราย นางฟ้าอายเทียบเทพี ราตรีนี้ระยับรุ้งประดับไฟเสียงสี ค่ำค่ำยามราตรีต่างก็มีไหลเรือไฟ สีครามนามมูนแม่ มูนเผื่อแผ่แม่มูนไหล เฉกเช่นเส้นโยงใยเป็นหัวใจให้อุบล มาเด้อมาสมโภชน์ให้รุ่งโรจน์เพิ่มพูนผล ของดีที่อุบลงามเลิศล้นคนติดใจ ขอมอบตอบสนองท่านมาฉลองครั้งยิ่งใหญ่ สิ่งนั้นคือหัวใจอันอำไพจากชาวอุบล


     ผู้สร้างบ้านแปงเมืองอุบลคือ พระวอ และบุตรหลานพระตา จากเมืองหนองบัวลำภู หรือนครขันธ์กาบแก้วบัวบาน ในเขตจังหวัด อุดรธานี..และเป็นจังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน ที่อพยพหนีภัยสงครามกับ เมือง เวียงจันทน์ ลงมาตั้งรกราก ที่ดอนมดแดง ห้วยแจระแม เมืองดงอู่ผึ้ง ที่สุดคืออุบลราชธานี เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๑๒ ต่อมาชุมชนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "เมืองอุบลราชธานี ศรีวะนาลัยประเทศราช" เมื่อ วันจันทร์. .เดือน ๘ แรม ๑ ค่ำ ปีชวด พ.ศ.๒๓๓๕ ในรัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชองค์ปฐม บรมราชจักรีวงศ์ และภายหลังหน่วยงานราชการได้นำเอา ดอกบัวมาเป็นสัญลักษณ์ เมืองอุบลเพื่อเป็นการระลึกถึง เมืองหนองบัวลำภู
ลูกพ่อคำผง คำร้องและทำนอง นคร พงษ์ภาพ / สนธิ สมมาตร ขับร้อง

     แม่มูนใส ไหลผ่าน บ้านเฮา อุบลไหลเลี้ยงผู้คน เลี้ยงลูกหลาน อีสานบ้านเฮา คนเมืองอุบล เฮาทุกคน ฮักกันเด้อเจ้า หากผ่านไปบ้านเฮา แวะกินข้าว เซาเฮื้อนเด้อเพิ่น แม่มูนใส ไหลผ่าน ลูกหลาน อาบกิน ไผเคยได้ยิน เมืองดอกบัว ข้อยก็ขอเชิญ เที่ยวเมืองอุบล สองร้อยปี บ้านเฮาสาเกิ่น มีสาวแก้มเปิ่นเวิ่น คอยถ้าอ้าย มาผ่ายหม่ายสาว ฟังเสียงพิณให้แหน่ ฟังเสียงแคนให้แหน่ แหล่นแตร่ แล้นแตร้ แล้นแตร่ สาวฟ้อนแห่ ต้นเทียนพรรษา มาเอ้ามาฟ้อนแห่ต้นเทียน คุ้มวัดใต้ วัดกลางแห่มา แห่เทียนพรรษา พากันแห่เวียน วัดป่า วัดแจ้ง วัดทุ่ง สาวเจ้าบ่ อ่ง งามน้อปานเสี่ยน พากันมาแห่เทียน สาวบ้านเฮา บุญเข้าพรรษา..แม่น้ำมูนใส ไหลผ่าน บ้านเฮา อุบล เหมือนเทพเมือง แม่น้ำมูนใส ไหลผ่าน อุบล เมืองพ่อ มาช่วยสานต่อ บ้านอุบล เฮาให้ฮุ่งเฮือง ปู่เฮาก่อนมา ทั้งพระวอ พระตา พาเสี่ยง มาสร้างบ้านแปงเมือง แทนปู่ทวด ของเฮาต่อไป 



     พระปทุมสุรราช(ท้าวคำผง) ได้ปราบปราบกบฏอ้ายเชียงแก้ว โดยมีการต่อสู่กันบริเวณแก่งตะนะ และได้รับชัยชนะ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้

     พระปทุมสุรราช เป็น พระปทุมวรราชสุริยวงษ์ ครองเมืองอุบล พร้อมยกฐานะห้วยแจระแมขึ้นเป็น เมืองอุบลราชธานีศรีวะนาลัยประเทศราช ซึ่งเปรียบเมืองอุบลเสมือนนครใหญ่ ธานีแห่งราชะ อยู่เด่นเป็นศรีสง่าแห่งไพรพฤกษ์ (ระลึก ธานี,๒๕๔๖)

     หากจะกล่าวถึงวัด ในสมัยตั้งเมืองอุบล ภายหลังการสร้างเมืองอุบล ได้ ๒ ปี กลุ่มเจ้าเมืองและเจ้านายอุปฮาด ราชวงค์ ราชบุตร ได้สร้างวัดขึ้น ชื่อว่า วัดหลวงเป็นที่ประดิษฐานพรพุทธปฏิมากรแก้วบุษราคัม การตั้งชื่อวัดหลวงเป็นการตั้งตามตามนามของเจ้าพระประทุม(คำผง) สร้างที่ริมแม่น้ำมูน ใกล้ที่โฮงหลวง ที่ประทับของพระปทุมวรราชสุริยาวงศ์(ท้าวคำผง) นอกจากนี้ยังวัดที่สำคัญในช่วงนั้น มี วัดกลาง ตั้งริมแม่น้ำมูน วัดเหนือท่า

     ส่วนวัดป่าที่แห่งแรก คือวัดใต้ท่า หรือวัดใต้ปัจุจบัน และวัดป่าที่สำคัญในสมัยนั้น คือวัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ พระหมวรราชสุริยวงศ์ สร้างพระพระพุทธรูปใหญ่นามว่าพระเจ้าอินแปลงเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอุบลอีกแห่งหนึ่ง ต่อมา สมเด็จพระมหาวีรวงค์(อ้วน ติสสเถระ) เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดมหาวนาราม พ.ศ. ๒๔๘๕ ชาวบ้านเรียกว่าวัดป่าใหญ่”(คนึงนิตย์ จันทบุตร,๒๕๓๑) นิราศอุบล  เทพพร เพชรอุบล ขับร้อง

     นั่งหลับบนรถยนต์ถึงอุบล ตอนน้องเพล เห็นพระและเณรเตรียมฉันเพลสับสน อรามอร่ามเรือง ศาสตร์ฟูเฟื่องเมืองอุบล มองดูทุกผู้คนอิ่มกุสลโมทนา พระวอและพระตาตั้งธาราอย่างแข็งแรง เดิมอยู่ดอนมดแดงนำชื่อมาแต่งเป็นสนามกีฬา และแล้วท้าวคำผงเป็นเผ่าพงศ์พระวอพระตา ย้ายเมืองจากเดิมมาตั้งชื่อว่าเมืองอุบล จวบเดือนกรกฎา ปีสามห้า ตามราศี ครบรอบสองร้อยปี ฤกษ์ยามดีมีกุศล ชาวเมืองต่างแซ่ซ้องร่วมฉลองเมืองอุบล นับได้หลายชั่วคนจวบถึงจนสองร้อยปี รีบลัดตัด พ.ศ. เล่าขานต่อพอเลาเลา เป็นเมืองที่แก่เก่าย่างเข้ามา พ.ศ. นี้ เลื่องลือพอประจักษ์เป็นแหล่งอนุรักษ์ประเพณี แห่เทียนประจำปี และยังมีไหลเรือไฟ วารินชำราบเอ๋ยก่อนนี้เคยมาวาริน เล้าโลมเจ้าโฉมชินชิมวารีสะอาดใส ถึงคราต้องจากลาวาสนาคนบ้านไกล งานบุญไหลเรือไฟพบกันใหม่เน้อคนดี พิบูลมังสาหารเห็นชาวบ้านแสนไพบูลย์ งามแท้ลูกแม่มูน สาวพิบูลงามอีหลี่ แต่ต้องจำตัดใจศรีเมืองใหม่ก็แสนดี หยุดมองสองนาทีลาคนดี น้ำใจงาม โขงเจียมประหลาดล้ำมีแม่น้ำเป็นสองสี หรือสาวโขงเจียมนี้มีสองใจคล้ายแม่น้ำ

      โขงเจียมคือโขงใจพี่ฝากไว้ให้สาวตางาม สำคัญอันวามวาวจากงามขำ จำไม่ลืม ตระการพืชผลพบแต่คนแสนโสภา ถึงอำเภอพนาร้านขายค้าน่าปลาบปลื้ม ม่วงสามสิบ อำนาจเจริญ ก็เหลือลืม เขื่องในเคยยืมเงินพ่อเพิ่มเติมน้ำมัน บุณฑริกริกบุญให้ผู้ผ่านไปได้ผลบุญ น้ำใจช่างเจือจุนแต่งผลบุญที่สร้างสรรค์ มาถึงเดชอุดมเดินหน้ากลุ้มพัลวัน ชื่อเดชอุดมนั้นฟังฉรรก์น่ากลัวเกรง แต่สาวเดชอุดมตาคมคม ทั้งอำเภอ พี่มองแล้วยืนเหม่อเจอะตาเธอจ้องตรงเผ็ง ชื่อดุคนใจดีมีไมตรีอย่างกันเอง ซ้ำยังรักเสียงเพลงยามวังเวงแว่วเพลงแคน ชานุมาน เขมราฐ ใจสะอาด ชอบแบ่งปัน ข้าวชามและน้ำขันเคยได้ลิ้มอิ่มเหลือแสน เอื้อเฟื้อเผื่อผลกับทุกคนมาต่างแดน เคลิ้มเสียงพิณลำแคนเกือบมีแฟนหัวตะพาน หาดทรายน้ำจืด สวยหาดคูเดื่อ ไม่เบื่อไป อีกทั้งหาดวัดใต้เกาะสวาทหาดสวรรค์ ผาแต้มใครแต้มผาจึงงามตาเหลือรำพัน ภาพเขียนอันสำคัญอายุนั้นนับพันปี ทำใจแสนลำบากเมื่อต้องจากเมืองอุบล หากพี่มีกุศลจะเวียนวนมาทุกปี ลาทีใช่ลาก่อนขนตางอนอย่าลืมพี่ กลับบ้านคงฝันดีถึงสาวศรีเมืองอุบล 



     เพลงได้พาเราเดินทางไปยังอำเภอต่างๆของอุบล ซึ่งผู้แต่งได้แต่งขึ้นในช่วงที่เมืองอุบล ยังไม่แยกการปกครองอำเภออำนาจเจริญออกเป็นจังหวัดใหม่ ถึงอย่างไรก็ตามคนที่อยู่อำนาจเจริญ ก็ยังรู้สึกว่า ตนเป็นคนอุบล เช่น ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ครูสลา คุณวุฒิ ที่ยังคงบอกกล่าวและแนะนำตัวมาเป็นคนเมืองอุบล เพราะความผูกพันธ์ เป็นต้น ปัจจุบันอุบลราชธานี มีอำเภอทั้งสิ้น ๒๐ อำเภอ ๕ กิ่งอำเภอ

ลำนำอุบลราชธานี ๒๐๐ ปี  คำร้อง ธนวรวัฒน์ ผลพันธ์/ทำนอง ประยงค์ ชื่นเย็น / ชินกร ไกรลาส ขับร้อง

     ซึมขับจากซับหิน ลงไหลริน ร้อยพันศก รวมผ่าน เป็นธารทก มาไหลตก เป็นแม่น้ำมูน เบียดฝั่ง ยังทิศเหนือ เราเกิดเกื้อไม่สิ้นสูญ วัฒนธรรม จำรูญ มีเพิ่มพูน เพียงเกรียงไกร เจ้าคำผง คงปัก เป็นหลักเมือง เรืองไสว ดงอู่ผึ้ง ซึ้งให้ความสุขใส แหละร่มเย็น ราชธานี แห่งอีสาน ด้วยตำนาน ที่แลเห็น แสนพัน อันเกิดเป็น ซึ่งซ่านเซ็น สืบสรรมา ประเพณี นี้บรรเจิด เรางามเลิศ เทียนพรรษา คืนวัน อันผ่านตา คงคุณค่า ความมากมาย ล้อเกวียน เคยเวียนบด จนล้อรถ แล่นทับหาย บ้านเมือง เรืองเรียงราย ดังสืบสาย สานต่อกัน อีสาน คือบ้านเกิด ไม่เลอเลิศ ให้นึกฝัน ฟันฝ่า มานานวัน เพียงสร้างสรรค์ ถิ่นไทยงาม อุบลราชธานี สองร้อยปี ศรีสยาม คงค่า มหานาม ดอกบัวงาม อร่ามตา คือถิ่นไทย นักปราชญ์ อีกทรายหาด แก่งหินผา น้ำมี สองสีมา มวลพฤกษา ไสวเย็น สองห้าสามห้าศกสองร้อยปีตก ยกมาเห็น ประชาสุขไร้ทุกข์เข็ญ สิบทอดเป็น เช่นยาวนาน
อุบลบ้านอ้าย  คำร้อง เฉลิมพร เพชรศยาม /ทำนอง เพชรพิณทอง/เฉลิมพร เพชรศยาม ขับร้อง

     เมืองอุบลมีรถยนต์วิ่งผ่านจักรยานสามล้อมอเตอร์ไซด์ รถไฟก็วิ่งมาถึงหัวใจฝังตรึงสถานีวาริน ไปนำบ้อ ไปนำข้อยบ่ เมือนำบ้อ สิเมือนำบักฮ้ายบ่ โอ อุบลเอย เมืองอุบลคนเขาชมว่าเด่น ใครเห็นแล้วเป็นต้องติดใจ ถิ่นนี้ช่างงามวิไล มาซิเราไปไหว้พระเจ้าใหญ่อินแปลง ไปนำบ้อ ไปนำข้อยบ่ เมือนำบ้อสิเมือนำบักอ้ายบ่ โอ อุบลเอย ลงแลงแสงแดดอ่อนอ่อน ตะวันรอนรอนไปเที่ยวลำน้ำมูน สีเหลืองบานแล้วดอกคูน ไปเที่ยวลำน้ำมูนนั่งเรือกินลม ไปนำบ้อ ไปนำข้อยบ่ เมือนำบ้อสิเมือนำบักอ้ายบ่ เมือกินปิ้งปลาข่อกับนึ่งข้าวเหนียวลวกผักดอกกระเจียวหมกหว่านตูบหมูบ พอแล้วชู้จังกลับต่าวคืนมา โอ้ โฮ อุบลเอย เพลินตากันให้สนุกไปเที่ยวดูน้ำตกกันให้สุขใจ น้ำตกแก่งตะนะนั่นไงไปเที่ยวเหวสินธุ์ชัยไหว้พระเจ้าใหญ่ปากแซง ตะวันแดงแดดร่มลมตก ได้ยินเสียงนกกาเหว่าเว้าวอน ผาแต้มก็สวยน่าออนซอน มาซิงามงอน มาเที่ยวเมืองอุบลไป ไปนำบ้อ ไปนำข้อยบ่ เมือนำบ้อ สิเมือนำบักฮ้ายบ่ โอ อุบลเอย

     จากพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้สะท้อนสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในแถบมณฑลอุดรและอีสาน คราที่ออกตรวจราชการ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๕ ไว้อย่างชัดเจนว่า ลองไต่ถามถึงประเพณีการสมาคมของชาวบ้านเหล่านี้ตามที่พวกชาวบ้านเหล่านี้ชี้แจง ได้ความประหลาดน่าพิศวงอย่าง ๑ คือ ชาวบ้านครัวหนึ่งมีบ้านอยู่แห่ง ๑ มีเหย้าเรือนพอกันอยู่และมียุ้งข้าวเก็บไว้พอกินปีละ ๑ ในลานบ้าน ปลูกพริก มะเขือ ข่า ตะไคร้สำหรับต้มแกง นอกบ้านมีสวนผลไม้ เช่น กล้วย ออ้ย หมาก มะพร้าว และมีที่ปลูกต้นหม่อนสำหรับเลี้ยงไหม ต่อเขตสวนออกไปถึงทุ่งนาต่างมีเนื้อนาและโค กระบือ พอทำได้ข้าวกินทุกครัวเรือน ถึงฤดูทำนาก็ช่วยกันทำนาทั้งชายหญิงเด็กผู้ใหญ่ สิ้นฤดูทำนาผู้ชายไปเที่ยวหาของขาย ผู้หญิงอยู่บ้านเลี้ยงไหมและทอผ้าทำเครื่องุน่งห่ม เศษอาหารที่เหลือบริโภคใช้เลี้ยงไก่และสุกรไว้ขาย การกินอยู่ของชาวบ้านแถวนี้ทำได้เอง เกือบไม่ต้องซื้อหาสิ่งอันใด สิ่งที่ต้องซื้อก็คือเครื่องเหล็ก เช่น จอบ เสียม มีดพร้า เป็นต้น…..ต่างครัวต่างเป็นอิสระแก่กัน ไม่มีใคร เป็นบ่าวไม่มีใครเป็นนายใคร ลูกบ้านที่อยู่ในปกครองกันง่ายดาย แต่ว่าทั้งตำบลจะหาเศรษฐีที่มั่งมีเงินแต่ ๒๐๐ บาทขึ้นไปไม่มีเลย คนยากจนถึงต้องเป็นบ่าวคนอื่นก็ไม่มีอีกเลยสักคนเดียว คงอยู่กันมาเช่นนี้นับด้วยร้อยปีแล้ว ……” (ระลึก ธานี ,๒๕๔๖)

อุบลวันนี้  คำร้อง ชลธี ธารทอง /ทำนอง ประยงค์ ชื่นเย็น / นพดล ดวงพร ขับร้อง

     เมืองอุบลเรานั้นในวันนี้ มีสิ่งที่ไม่มีหลายปีก่อน ความเจริญก้าวหน้าในป่าดอน หนังละครทีวีมีให้ดู ไม่ต้องจุดขี้ไต้ใช้ไฟฟ้า หมู่บ้านร้านค้าล้วนน่าอยู่ ของกินของอยากล้วนหมากพลู ปลาทูซื้อง่ายสบายจัง มีถนนลาดยางเส้นทางลัด หลวงพัฒนาให้มั่นคั่ง เกาะแก่งแหล่งท่องเที่ยวที่โด่งดัง แก่งตะนะอีกทั้งแก่งสะพือ ห้องอาหารใหญ่เล็กเธคเดินสาย ใคร่ค้าใคร่ขายสบายบรื่อ ไม่มัวเกียจคร้านงานล้นมือ ต้องรวยอื้อรวยอัฐสมบัติจร ตั้งแต่มีไฟฟ้ามาหมู่บ้าน เซลแมนเดินพล่านขายเงินผ่อน ผ้าห่มนมลูกและฟูกนอน ซื้อง่ายขายผ่อนไม่หย่อนตึง ประเพณีแห่เทียนก็งามล้น เมืองอุบลเขาดีเป็นที่หนึ่ง ต่างชาติต่างภาษามากันตึง และตะลึงสาวชาวอุบล บัวบานกลางใจทั้งไทยเทศบอกเหตุเมืองนี้มีกุศล ไม่เคยเที่ยวเชิญเที่ยวเมืองอุบล เพียงหนึ่งหนแล้วจะบอกว่าบุญตา

     นพดลมองคนอุบลในวันนี้ว่า คนอุบลพูดภาษาอุบลหรือภาษาอีสานกันน้อย หลายคนหันไปพูดภาษาภาคกลาง โดยเฉพาะวัยรุ่นพูดหรือออกเสียงไม่ชัดเจนฟังเข้าใจยาก ภาษาเป็นเรื่องของวัฒธรรมที่น่าภาคภูมิใจน่ารักษา ทำไมเราไม่พูดและรักษาวัฒนธรรมของเราไว้ คนภาคอื่นเมื่อมาอีสานก็อยากฟังภาษาอีสาน ไปภาคเหนือก็อยากฟังภาษาเหนือ อาหารก็กินไม่เหมือนเดิม เด็ก ๆ กิน พิชซ่า เคเอฟซี ซึ่งล้วนแต่เป็นอาหารขยะไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อาหารพื้นบ้านที่คนสมัยก่อนกิน ทำให้ร่างกายแข็งแรง มีอายุยืน นับ ๑๐๐ ปี เราต้องทำให้เราอายุยืนเหมือนคนสมัยก่อนให้ได้



เที่ยวเมืองอุบล  คำร้อง ชลธี ธารทอง / ทำนอง ประยงค์ ชื่นเย็น / ขับร้อง สนธิ สมมาตร

     นั่งรถไฟฉึกฉัก ฉึกฉัก เหล้าสองกั๊กไก่ย่างส้มตำ กินไปนำนั่งหลับไปนำ กินไปนำนั่งหลับไปนำ หมดส้มตำก็ฮอดอุบล สาววารินจากยุพินไปแสนนาน พิบูลมังสาหารสาวตาหวานขวัญใจคนจน โขงเจียมฝังใจ ศรีเมืองใหม่ใจซื่อ พาเที่ยวแก่งสะพือได้จับมือหน้ามล เข้าพรราแห่เทียน สาวเฝ้าเทียนงามแท้ ท้าวแขนแอ่นแด้ ขบวนแห่รอบอุบล ฝรั่งมังค่าจีนแขกก็มาร่วมบุญ แก่เฒ่าสาวรุ่นอิ่มใบบุญทุกผู้คน แสนเสียดายเที่ยวเพลินเงินก็หมดแล้ว ยืมเงินป้าแก้วค่ารถไฟจากอุบล ลาทีขวัญใจพบกันใหม่ปีหน้า งานบุญเข้าพรรษาต้องมาหาแฟนกอดสักคน

     เส้นทางเดินรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างกรุงเทพ ฯ อุบลราชธานี ได้เริ่มลงมือก่อสร้างครั้งแรกที่สถานีกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การก่อสร้างดำเนินไปเป็นช่วง ๆ ถึงนครราชสีมา ในปี ๒๔๔๓ และหยุดชะงัก ต่อมาได้มีการสร้างต่อถึง สุรินทร์ และเปิดใช้เมื่อ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ถึงศรีสะเกษ เมื่อ สิงหาคม ๒๔๗๑ จนสำเร็จเรียบร้อยอย่างสมบูรณ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สามารถเปิดการเดินรถถึงอุบลราชธานี(อำเภอวารินชำราบ) เป็นระยะทาง ๕๗๕ กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๓ รวมใช้เวลา ๔๐ ปี

คิดถึงอุบล  คำร้อง ทำนอง ชลธี ธารทอง / ยอดรัก สลักใจ ขับร้อง

     มาถิ่นอุบล เจอแต่คนงาม ๆ สมแล้วสมนามคนงามแห่งเมืองดอกบัว บัวเมืองอุบล ผู้คนเขาลือไปทั่ว บัวเมืองไหนบ่ถูกใจตัว เหมือนกับบัวของเมืองอุบล โรยรินกลิ่นบัว หอมยั่วหัวใจภมร บัวของบังอรยั่วใจอ้ายสั่นเหลือทน ดอกบัวในบึงสวยซึ้งหมู่ผึ้งปีนต้น ยังบ่งามเกินสาวอุบล โอ้แม่หน้ามลเป็นแต่ออนซอน เป็นบุญตาที่ได้มาถึงเมืองอุบล ได้พบหน้ามนแล้วอ้ายบ่อยากลาจร อยากอยู่อุบลช่วยหน้ามนคราดไถนาดอน แต่จำไกล จำไป จำจร เพราะเป็นตำรวจต้องตรวจชายแดน
ลาก่อนตาหวาน สาบานกับแม่น้ำมูน ชีวิตดับสูญบ่ลืมดอกคูนเสียงแคน ทำบุญครั้งใด ตั้งใจเอาไว้ฝังแน่น เก็บดอกบัวไหว้พระทั่วแดน ขอให้มีอยู่เมืองอุบล


เสน่ห์เมืองอุบล  คำร้อง ชลธี ธารทอง / ทำนอง ประยงค์ ชื่นเย็น / ยอดรัก สลักใจ ขับร้อง

     ลำเอยลำน้ำมูน เหลืองดอกคูน สองชายฝั่ง แคนคลอซอสีดัง ดั่งดนตรี ศรีอุบล ร้อยเรียงเป็นเสียงลำ ต่างลำนำจากคนจน เสน่ห์เมืองอุบล ชวนให้ยล ชวนเยี่ยมยาม สาวก็โสภา เห็นกับตา หน้าแห่เทียน คิ้วโก่งครึ่งล้อเกวียน ผิวเนื้อเนียน แข่งเทียนงาม งามดาวบนท้องฟ้า ยังน้อยกว่า ตาสาวงาม สบตาวาบหวาม อยากขอตาม ไปสักคน คนดีมีน้ำใจ หาสิ่งใด ไหนไหนเทียมได้ ดินแดนอีสานไกล สุดแดนไทย เมืองอุบล สวยเอยแก่งสะพือ สมคำลือ ชื่อมีมนต์สะพือสะพัดจน คนลือเลื่อง เมืองดอกบัว

แม่มูนรำลึก  คำร้อง ชลธี ธารทอง / ทำนอง ประยงค์ ชื่นเย็น /สนธิ สมมาตร ขับร้อง

     ย่างเดือนสิบสองน้ำนองสองฝั่งแม่มูน สายน้ำที่ไหลเปลี่ยนหมุนดั่งใจแม่คุญที่ลืมฮักอ้าย โอ้ละหนอ ปล่อยอ้ายเพ้อคิดถึงบ่วาย ฮักเก่าเฮาเคยสุขใจ น้องเปลียนไปเปลี่ยนใจเปลี่ยนคำ เสียงนกเขาคูจุ๊กกรูขู่ร้องเรียกหา เสียงกู่นกร้อง เสียงกู่นกร้องก้องมา เหมือนดังเสียงเข้ากู่หาแม่นาง โอ้นกเขา คงบ่เหงาดังข้าสิ้นหวัง น้ำมูนเปี่ยมล้นสองฝั่ง แต่ใจนางกลับแห้งเหือดหาย คิดถึงวันที่เคยนั่งเคียงคู่สาว ก่อนนั้นเคยมีสองเฮา นั่งเรือหยอกเย้าเมื่อคืนเดือนหงาย เสียงคนหาปลากู่ร้องมาน้องยังถามอ้าย นั่นเสียงของคนปวดใจ คนรักจากไกลเขากู่เรียกหา ดึกดื่นเพียงใดหัวใจอ้ายหลับบ่ลง น้ำมูนไหลเลื่อมเชื่อมโยงไหลตกลำโขงบ่หวนคืนมา ดั่งใจอ้ายบ่มีใครเวทนา คิดถึงอดีตที่ผ่าน แม่มูนจ๋าลูกลืมบ่ลง
สาวลุ่มน้ำมูน วัลลภ ชนินธร ขับรอง

โ     อ้ เมือง ดอกบัวงาม ก่อนเคยได้ยินแต่นาม งามสมงามเป็นหนึ่ง ได้มาเห็นก็เป็นเช่นใครบอกอิง สมคำเล่าลือเป็นหนึ่ง สาวอุบลบ้านชายแดน โอ้ เมืองแ ห่งความหลัง เสียงเพลงที่เคยได้ฟัง ยังฝังใจไว้หนึ่ง ด้วยใจรัก รักเมืองดอกคูนเสียงแคน เสียงเพลงร่ำลือทั่วแดนเสียงพิณเสียงแคนกล่อมใจไม่เว้น น้ำมูนไม่เคยแห้งเหือด ดั่งเป็นสายเลือดของชาวอีสาน ร่มเย็น ชั่วนาตาปี เห็นแต่มี น้ำมูนสวยเด่น ให้ร่มเย็นแก่ชาวอีสานทุกคน โอ้ แม่สาวสวรรค์ ถึงเราจะต้องจากกันพลัน อย่าได้หมองหม่น จากไปไกลหัวใจฝังอยู่อุบล สักวัน พี่คง ดั้นด้นมาอุบลราชธานี
หนุ่มแจระแม  คำร้องและทำนอง นคร พงษ์ภาพ / วัลลภ ชนินธร ขับร้อง



     สาวงามบ้านดอน ข้อยนอน ก็หลับบ่ลง ยังคิดถึงอนงค์ สาวบ้านดง บ้านดอนมดแดง เคยมาบ้านสาว งานบุญผะเวศ พบหล่า คำแพง สาวบ้านดอนมดแดง อ้ายคิดฮอดแฮง เมื่อยามจากมา สาวลืมอ้ายบ่อ อ้ายรอ พบสาวบ้านดอน บุญแห่เทียนสาวฟ้อน เซิ้งแห่นำ วันเข้าพรรษา อย่าลืมอ้ายคำ คนบ้านแจ ระแม เด้อหล่า วันแห่เทียนเข้าพรรษา แล้วอ้ายจะมา เบิ่งสาวฟ้อนแห่ หนุ่มแจระแม เมืองแม่ อุบลเหมือนกัน แจ๋ถะแม้ แต่ก่อนบ้านฉัน ชื่อเดิมก่อนนั้น ว่าแจ๋ถะแม้ บ้านมีบ่อเกลือ บ้านใต้บ้านเหนือ ผ่านมา แจ๋แม ให้ชิมเกลือข่อยแหน่ แจ๋เบิ่งถะแม้ เกลือบ้านระแมสาวงามบ้านดอน น้องนอน ให้หลับฟังดี ฝันถึงอ้ายคำมี คำแพงพี่ แพงหลายลูกแม่ แห่เทียนพรรษา อย่าลืมมองหา หนุ่มแจระแม สาวบ้านดอนฟ้อนแห่ หนุ่มแจระแม เฝ้ามองน้องนาง

     ในปี พ.ศ.๒๓๒๙ (จุลศักราช ๑๑๔๘ ปีมะเมีย นพศก) พระปทุมย้ายครอบครัวไพร่พลมาตั้ง อยู่ ณ ตำบลห้วยแจละแม๊ คือตำบลที่ตั้งอยู่ห่างทิศเหนือเมืองอุบลราชธานีปัจจุบัน ส่วนคำว่า แจละแม็ หรือแจละแม นั้น มีตำนานมาว่า เดิมมีคนไปตั้งต้มเกลืออยู่ที่ห้วย คนเดินทางผ่านห้วยนั้นไปมาก็มักแวะเข้าไปขอเกลือต่อผู้ต้มเกลือว่าขอแจละแม็ คือแตะกินสักหน่อยเถิด จึงได้มีนามปรากฏว่า ห้วยแจละแม็ มาแต่เหตุนั้น ในเรื่องนี้ สมเด็จพระมหาวีรวงค์(ติสโส อ้วน) เมื่อครั้งยังเป็นพระพรหมมุนีได้ให้ไว้ว่า คำที่ว่าแจละแมเป็นคำพูดของส่วยคำหนึ่งว่าจะแมซึ่งแปลว่าอีเห็นหรือเห็นอ้ม ก็นึกแน่ว่า แจละแม คงเพี้ยนมาจากจะแมแน่ คำที่ว่าห้วยแจละแม ก็คือห้วยอีเห็นหรือห้วยเห็นอ้มนั่นเอง (ระลึก ธานี,๒๕๔๖)


           เพชรพิณทอง และนพดล ดวงพร ได้ก่อกระแสความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นในใจคนอีสาน ทำให้คนอีสานได้ประจักษ์ว่า ภาษาอีสานหรือภาษาลาวนั้นมีความงาม มีมิติล้ำลึก การเสียเวลากว่า ๓ ชั่วโมงในการนั่งชมการแสดง เป็นความคุ้มค่าอย่างที่สุด เสียงปล่อยหัวเราะ เสียงโห่ฮาเพื่อบำบัดระบายอารมณ์ความสนุกจุกแน่นที่เพชรพิณทองก่อให้เกิดมีขึ้นตลอดเวลาในการแสดง เมื่อการแสดงจบลง ทุกคนเดินออกจากวงผ้าล้อมวิกหรือโรงภาพยนตร์ ทุกใบหน้ายังคงประด้วยรอยยิ้มและไมตรี หันมองคนรอบข้างและยิ้มให้กันอย่างมีความสุข มีหวัง แม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ที่สามารถยิ้มหัวให้กันได้ก็เพราะทุกคนก็รู้ว่า คนที่เข้าชมเพชรพิณทอง คือ คนอีสาน คนบ้านเดียวกัน เป็นคนที่ฟังภาษาเพชรพิณทองแล้วขบขันจนตัวโก่งเหมือนกัน 

     เทปคาสเส็ต ม้วนวิดีโอ แผ่นวีซีดี หรือโสตทัศนูปกรณ์อื่นๆ และแม้แต่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากการแสดงที่ติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ชมผู้ฟังยังคงประทับบทบาท ผลงานและคุณความดีที่เพชรพิณทองและนพดล ดวงพรได้สรรค์สร้างไว้ตลอดไป

   คนอีสานไม่มีวันลืมนพดล ดวงพร เราจะจดจำเพชรพิณทอง เราไม่ลืมทองใส ทับถนนและชาวคณะเพชรพิณทอง
เรายังไม่ลืมรอยยิ้ม เสียงหัวเราะของคนข้างๆ ที่เอาแต่แหกปากหัวเราะเหมือนคนบ้า แม้เราจะไม่รู้จักชื่อ แต่เสียงหัวเราะของเขายังก้องอยู่ตลอดไป.


----------------------------------------------------------------------------------- 
 ที่มา : แวง พลังวรรณ / แวววัน 

 

ทองใส ทับถนน : เพลงพิณสนั่นทุ่ง

เมืองอุบลถิ่นนักปราชญ์มากด้วยศิลปินหลากหลายสาขา หนึ่งในจำนวนนั้นต้องยกให้ครูทองใส ทับถนน ผู้ที่วาดลีลาดีดพิณลีลาลายพิณโบราณพริ้วไหวสนั่นทุ่งแห่งวง เพชรพิณทอง 

ครูทองใส ทับถนน เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2490 ที่บ้านหนองกินเพล ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายปิ่น และนางหนู ทับถนน โดยสืบเชื้อสายศิลปินจากนายปิ่นผู้เป็นพ่อซึ่งมีความสามารถด้านหมอลำพื้นบ้าน และการแสดงหนังบักตื้อ (หนังปราโมทัย)

 ครูทองใส ทับถนนเริ่มฝึกดีดพิณเมื่ออายุ 4 ปี  โดยมีครูบุญ บ้านท่างอย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้ฝึกสอนการดีดพิณเป็นคนแรก จนอายุได้ 8 ปี จึงได้เล่นพิณประกอบคณะหมอลำของนายปิ่น ทับถนน ผู้เป็นพ่อ จากนั้นจึงได้เรียนรู้ลายพิณโบราณกับครูบุญชู โนนแก้ว แห่งบ้านโนนสังข์ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ศิลปินมือพิณพื้นบ้านตาพิการ  เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จึงได้ตระเวนเล่นดนตรีกับคณะหมอลำปิ่น ทับถนนเรื่อยมา

 

ครั้นย่างสู่วัยหนุ่มเมื่ออายุได้ 21 ปี ครูทองใส ทับถนน ได้เข้าประจำการเป็นทหารเกณฑ์ที่กองพันทหารปืนใหญ่ ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้มีโอกาสเป็นนักดนตรีวงดนตรีสากลประจำกองพันทหารปืนใหญ่  ได้นำพิณมาประยุกต์กับดนตรีสากลสมัยใหม่ และเรียนรู้การเล่นดนตรีตามแบบสากลนับแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังพ้นเกณฑ์ทหารในปี 2513 ครูทองใส ทับถนนจึงกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดและได้สมัครเข้าเป็นนักดนตรีคณะ ลูกทุ่งอีสาน ของครูนพดล ดวงพร  ภายใต้ฉายา ทองใส หัวนาค ทั้งนี้เพราะมีพิณแกะสลักเป็นรูปพญานาคเป็นเครื่องดนตรีคู่กาย ต่อมาในปี 2514 ครูนพดล ดวงพร ได้รับเชิญให้นำวงดนตรีลูกทุ่งอีสานประยุกต์ไปแสดงถวายหน้าพระที่ประทับที่เขื่อนน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

ครูนพดล ดวงพร ร่วมกับครูทองใส ทับถนน ได้ถวายพิณแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตรัสว่า  เพชรนี้เป็นเพชรน้ำเอก ของเครื่องดนตรีอีสาน ยังความปลื้มปิติแก่นพดล ดวงพร และชาวคณะเป็นอย่างมาก จึงได้เปลี่ยนชื่อวงดนตรี ลูกทุ่งอีสาน  พิณประยุกต์ มาเป็นวง  เพชรพิณทอง  ซึ่งถือว่าเป็นนามมงคลอันเกิดจากการถวายพิณในครั้งนั้น

ต่อมาครูทองใส ทับถนนได้นำเอาคอนแทรกไฟฟ้ามาประกอบกับพิณ และถือว่าเป็นพิณไฟฟ้าตัวแรกของเมืองไทย และได้เล่นดนตรีกับวงดนตรี เพชรพิณทอง ตลอดมาตั้งแต่ปี 2514 จนได้ยุติวง  แต่มนต์ขลังเสียงพิณของครูทองใส ทับถนน ยังดังก้องอยู่ในหัวใจของแฟนเพลงตลอดมา

ในการทำงานนั้นครูทองใส ทับถนน ได้ยึดมั่นในคุณธรรม 4 ประการ ในการทำงานคือ ความเพียร ความอดทน มีน้ำใจ และมีความซื่อสัตย์สุจริต ตลอดทั้งมีหลักหารในการทำงานให้มีความสุขสนุกสนานกับเพื่อนร่วมงาน ผสมผสานชีวิตทำงานกับครอบครัว พัฒนางานฝีมืออยู่เสมอ และถ่ายทอดความรู้โดยไม่ปิดบัง 

  

ผลจากการสั่งสมประสมการณ์ในการเล่นพิณและให้ความช่วยเหลือสังคม ชุมชน ตลอดมาจึงทำให้ผลงานของครูทองใส ทับถนนเป็นที่ประจักษ์เรื่อยมาจนได้รับการประกาศเกียรติคุณดังนี้

ปี 2543 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินดีเด่นสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีอีสาน) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ  

ปี 2544 ได้รับประกาศเกียรติคุณผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรมวัฒนธรรมดีเด่น จากสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เขตการศึกษา 10          

ปี 2545  ได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ปี 2545                                     

ปี 2548 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ดนตรีศึกษา) จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี

ข้อมูล/ภาพประกอบการเขียน

http://www.onsorn.com                                                                

http://www.isangate.com

โดย

หนุ่มสัญจร
คมความคิด ชีวิตและงาน สายธารวรรณกรรม
http://www.oknation.net/blog/numsunjon

ท่านที่ต้องการบันทึกการแสดง"เพชรพิณทอง" VCD  และ  DVD ต้นตำหรับ 

ติดต่อได้ที่ นพดล ดวงพร

โทร 081-9667552

(Root) 2009310_50100.gif

ขอเชิญเยี่ยมชมและใช้บริการ เว็บบอร์ดเพชรพิณทอง

เพื่อให้การชมคลิปวิดีโอและฟังเสียงให้ได้ผลดี แนะนำให้ใช้เบราเซอร์ Microsoft Internet Explorer

Advertising Zone    Close

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...